กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see


ข่าว ครบรอบ 10 ปี Google Reader ปิดตัว - ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีผู้บริหารคนไหนเชื่อมั่น

News

Staff Member
VIP Member
Registered
Google Reader เว็บแอปสำหรับอ่านข่าวและเนื้อหาเว็บต่าง ๆ ผ่าน RSS ได้ปิดตัวลงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และอาจเป็นการปิดตัวผลิตภัณฑ์กูเกิลที่แม้ผู้ใช้งานไม่เยอะ แต่ทุกคนที่ใช้ต่างเสียดายกับการผลิตภัณฑ์ของกูเกิลนี้เป็นจำนวนมาก The Verge ได้ทำบทสัมภาษณ์พิเศษทีมงานของ Google Reader ในเวลานั้น ตั้งแต่จุดเริ่มต้น การเติบโตของผลิตภัณฑ์ อุปสรรค จนนำไปสู่การปิดตัว

แนวคิดของ Google Reader เกิดขึ้นในปี 2004 ซึ่งมีเทคโนโลยีฟีดสำหรับจัดเรียงเนื้อหาเว็บไซต์ทั้ง RSS และ Atom แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยม จึงเกิดไอเดียทำเว็บพื้นฐานที่เป็น Javascript แสดงเนื้อหาเว็บไซต์ที่ต้องการทั้งหมด และสามารถคลิกอ่านไปได้เรื่อย ๆ ในที่เดียว ไอเดียนี้ถือว่าใหม่มากในตอนนั้น เพราะคนยังนิยมเข้าเว็บไซต์แบบพิมพ์ URL ตรง ระบบฟีดโพสต์ลิงก์ของ Facebook และ Twitter ก็ยังไม่เกิดขึ้น

No Description
Google Reader ภาพ Flickr: Jordan Conway

[H3]ต้นแบบแรกในชื่อ Fusion[/H3]

Jason Shellen วิศวกรที่ร่วมงานกับกูเกิลผ่านการขาย Blogger ได้ร่วมมือกับ Chris Wetherell ที่เห็นไอเดียและโอกาสนี้ตรงกัน ใช้เวลา 20% ที่กูเกิลให้พนักงานทำโครงการส่วนตัวได้ พัฒนาต้นแบบของ Google Reader ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อว่า Fusion เขาประกาศหาทีมงานมาช่วยสร้างโดยบอกว่า Fusion จะเป็นบริการ "แสดงเนื้อหาจากเว็บไซต์แบบอัจฉริยะ และให้ผู้ใช้งานร่วมกันแชร์ ที่ดีที่สุดในโลก" ซึ่งฟังดูแล้วน่าจะเป็นการพัฒนาบริการโซเชียลสักตัวมากกว่าทำ RSS Reader เสียอีก

ปี 2005 Shellen เตรียมเปิดตัว Fusion สู่สาธารณะ แต่ถูก Marissa Mayer ที่เป็นผู้บริหารกูเกิลฝ่ายบริการบนเว็บทั้งหมดเวลานั้น ขอให้เปลี่ยนชื่อ เพราะต้องการใช้คำว่า Fusion กับผลิตภัณฑ์กูเกิลตัวอื่น (ซึ่งก็ไม่มีผลิตภัณฑ์ชื่อนี้ออกมา) ชื่อใหม่จึงถูกระดมสมองคิดทันทีทั้ง Reactor, Transmogrifier แต่ก็มาจบตรงชื่อลำดับท้ายสุด Reader เนื่องจากเข้าใจง่ายและเห็นภาพ แต่ไม่มีใครชอบเพราะจริง ๆ บริการตัวนี้เป้าหมายต้องการทำได้มากกว่าการอ่าน

Google Reader เริ่มต้นได้ไม่ดีนัก บริการมีปัญหาใช้งานไม่ได้บ่อยครั้ง ผู้ใช้งานจำนวนมากมาลองครั้งแรกและไม่กลับมาอีก จนกระทั่งปี 2006 Google Reader ปรับหน้าตาการใช้งานใหม่ทั้งหมด ผู้ใช้งานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และตัวเลขที่ทำให้ทีมพัฒนามั่นใจว่าถูกทาง คือระยะเวลาที่คนใช้งาน Reader อยู่ในระดับ 1 ชั่วโมงต่อวัน สูงกว่าบริการอื่นของกูเกิล

[H3]คนใช้หลงรัก แต่ตัวเลขไม่เติบโต[/H3]

อย่างไรก็ตาม Google Reader ก็มาถึงจุดที่เป็นปัญหา เมื่อผู้ใช้งานหลักคือคนที่ต้องการอ่านเนื้อหาแบบจริงจังเท่านั้น ขณะที่ผู้ใช้งานทั่วไปไม่ใช่แบบนั้น Google Reader จึงพยายามเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถหาเนื้อหาที่น่าสนใจ (ที่คัดจากผู้ใช้งานกลุ่มจริงจัง) เพิ่มระบบคอมเมนต์ ระบบไลค์ ให้เป็นโซเชียล จำนวนผู้ใช้ Google Reader สูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านคน แม้เป็นตัวเลขที่สูงถ้าเป็นบริการทั่วไป แต่ตัวเลขนี้น้อยมากสำหรับกูเกิล ที่ผลิตภัณฑ์อื่นมีผู้ใช้งานระดับร้อยล้านหรือพันล้าน จึงทำให้ผู้บริหารกูเกิลมองว่า Google Reader ไม่น่าไปได้ไกลกว่านี้ และเริ่มมีข้อเสนอปิดบริการตามแนวทางที่ใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ที่ความนิยมไม่สูง

เส้นทางการปิดบริการนี้เริ่มที่ Marissa Mayer เสนอว่าโครงการนี้ไม่มีประโยชน์ ใช้ทรัพยากรทีมงานไม่คุ้มค่า แต่ช่วงแรกยังได้ Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล ที่บอกว่าเขาชอบการใช้งาน Reader มากมาสนับสนุน แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี Page ก็กลับลำบอกว่านี่เป็นโครงการที่แย่ที่สุดตัวหนึ่งของกูเกิล ผู้บริหารกูเกิลอีกหลายคนก็มองว่า Reader เป็นเพียงฟีเจอร์เสริมในบริการอื่นได้เท่านั้น เช่น นำไปใส่ใน Gmail (ต่อมาไอเดียนี้ถูกนำมาใช้กับแอป Inbox ซึ่งก็ปิดตัวแล้วเช่นกัน) ส่งผลให้ Google Reader ไม่สามารถขอขยายทีมพัฒนาเพิ่มได้อีก

ต่อมาเข้าสู่ยุคของโซเชียลที่นำโดย Facebook และเริ่มแย่งส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาออนไลน์ที่เป็นรายได้หลักกูเกิล บริษัทจึงเริ่มแผนสร้างโซเชียลของตนเองขึ้นมา โดยตอนแรกอาศัยฐานผู้ใช้จากบัญชี Gmail ออกมาเป็นบริการชื่อ Google Buzz ที่ปิดตัวในเวลาเพียง 1 ปี กูเกิลจึงวางแผนกันใหม่ โดยให้ทีมงานส่วนใหญ่ของ Reader เข้ามาช่วยพัฒนา Google+ เวลานั้นทีม Reader ยังเชื่อว่าโครงการจะดำเนินต่อไปคู่กันได้ แต่แล้วกูเกิลก็สั่งให้บริการ Reader เข้าสู่สถานะ Maintenance หมายความว่าไม่ให้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่อีก ให้มาแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาใช้งานเท่านั้น ปลายปี 2012 Mihai Parparita วิศวกรคนสุดท้ายที่ดูแล Google Reader ลาออกจากบริษัท ก็ทำให้กูเกิลประกาศปิดบริการต่อมาในปี 2013 ส่วน Google+ ที่กูเกิลหมายมั่นเป็นบริการโซเชียลนั้น ตอนจบก็คงทราบกันอยู่แล้ว

04118517df329b1cc55b46cc50a6a23c.jpg
Google+ คำตอบของ เว็บ-ฟีด-โซเชียล ของกูเกิลในเวลานั้น

[H3]แนวคิดที่ยังคงอยู่[/H3]

Wetherell บอกว่าในเวลานั้นมีแอป RSS Reader อยู่มากมาย แต่ทำไม Google Reader จึงเป็นที่นิยม นั่นเพราะโครงสร้างพื้นฐานของกูเกิลที่รองรับ ทั้งระบบเสิร์ช การจัดการดึงข้อมูลเว็บ ที่รองรับโหลดได้มหาศาล การใช้งานจึงไหลลื่นไม่ติดขัด เขาเองก็ไม่เห็นแอปที่มาทดแทนได้ชัดเจน

ปัจจุบันทีมงาน Google Reader เดิม ยังคงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่อิงแนวคิดจากตอนทำ Reader (คอนเทนต์-จัดฟีด-แชร์) โดย Shellen กับ Wetherell ปัจจุบันทำแพลตฟอร์มโซเชียล Brizzly ส่วน Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram ที่เคยเป็นทีมงาน Reader เช่นกัน ตอนนี้ทำแอปอ่านข่าว Artifact

Jenna Bilotta ทีมงานฝ่ายออกแบบของ Reader ให้ความเห็นว่าหากตอนนั้นกูเกิลตัดสินใจลงทุนพัฒนา Google Reader มากกว่านี้ แทนที่จะเป็น Google+ บริการนี้มีโอกาสไปถึง ระบบแสดงเนื้อหาตามอัลกอริทึมแบบ Facebook, Twitter หรือ TikTok ได้ และกูเกิลวันนี้อาจไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันก็ได้

2a0a00bd8ad4109ba7474b9df46a76d8.png
Artifact แอปอ่านข่าวของอดีตทีมงาน Google Reader ที่ปรับแนวคิดดั้งเดิมมา

ที่มา: The Verge

Topics:
Google
Google Reader
RSS Reader

อ่านต่อ...
 



กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see
ด้านบน ด้านล่าง