กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see


News

ข่าว กรุงไทยบอกว่า ไทยได้รับความสนใจในการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ น้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน เพราะค่าไฟแพง-บุคลากรด้านไอทีไม่เพียงพอ

News 

Active member

สมาชิกทีมงาน
Moderator
Collaborate
รายงานจาก Krungthai COMPASS บอกว่า ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยมีโอกาสเติบโตสูง เพิ่มขึ้น 13.9 เท่า โดยรายได้รวมทั้งในรูปแบบของ Colocation และ Public Cloud คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2023 ไปถึง 1.5 แสนล้านบาทในปี 2028 หรือโตเฉลี่ยปีละ 21.3%

โดยคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทย 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการลงทุนของ:

  1. บริษัทเทคชั้นนำระดับโลก เช่น Microsoft, Google, และ TikTok
  2. ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับภูมิภาค เช่น NextDC, CtrlS, และ Beijing Haoyang Cloud Data Technology
  3. ผู้ประกอบการที่ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยก่อนปี 2023 อย่าง NTT Global Data Center

ขณะที่รายได้รวมจากการให้บริการติดตั้งระบบ Cloud และการให้บริการสาธารณูปโภคแก่ดาต้าเซ็นเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2023 ไปถึง 8.2 หมื่นล้านบาทในปี 2028 หรือโตเฉลี่ยปีละ 31.7%

ปัจจัยที่ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์โตขึ้น มาจากความต้องการใช้ Public Cloud ที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการฝึกอบรมโมเดล AI และการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกิดแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติน้อยกว่า ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน และมีการให้บริการอินเทอร์เน็ตเร็วกว่าหลายประเทศในอาเซียน รองลงจากสิงคโปร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียน พบว่าไทยอาจได้รับความสนใจในการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์น้อยกว่าบางประเทศ เมื่อเทียบขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ของไทยอยู่ที่ 67 เมกะวัตต์ ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 988 เมกะวัตต์, มาเลเซีย (280 เมกะวัตต์), และอินโดนีเซีย (236 เมกะวัตต์)

โดยสาเหตุหลักมีดังนี้:

  1. โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่าย: จำนวนสถานีเคเบิลใต้น้ำของไทยอยู่ที่ 11 แห่ง ซึ่งน้อยกว่าอินโดนีเซีย (46 แห่ง), สิงคโปร์ (27 แห่ง), และมาเลเซีย (22 แห่ง) ส่งผลให้การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศมีข้อจำกัด
  2. พลังงานและค่าไฟ: ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยในไทยสูงกว่า อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยอยู่ที่หน่วยละ 2.51 บาท ซึ่งยังสูงกว่าอินโดนีเซียที่ราคาหน่วยละ 2.52 บาท รวมถึงยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในราคาแข่งขันได้
  3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี: ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ (เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีนำเข้าอุปกรณ์) ของไทยอยู่ที่ 8 ปี ซึ่งสั้นกว่ามาเลเซีย (10 ปี) และอินโดนีเซีย (20 ปี) ที่มีมาตรการภาษีเพิ่มเติมสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ
  4. บุคลากรด้านไอที: ไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะไอทีและความรู้ด้านดิจิทัล เห็นได้จากสัดส่วนบุคลากรที่มีความรู้ด้านดิจิทัล 28% เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่สูงถึง 74% และมาเลเซีย 71%
  5. กระบวนการอนุมัติการลงทุน: กระบวนการในไทยมีความซับซ้อน และใช้เวลานาน (ประมาณ 60 วันหรือนานกว่านั้น) เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม (30-45 วัน) และอินโดนีเซีย (28 วัน) ซึ่งใช้ระบบอนุมัติแบบรวดเร็ว

กรุงไทยเสนอว่า ไทยต้องเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่าย เช่น การเพิ่มจำนวนสถานีเคเบิลใต้น้ำ ให้สามารถรองรับการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน โดยอนุญาตให้ผู้ให้บริการเข้าถึงไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชน ผ่านโครงข่ายของรัฐ โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม เพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงและแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

รวมถึงการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการขยายระยะเวลา และเพิ่มระดับสิทธิพิเศษสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

การส่งเสริมด้านบุคลากร และการพัฒนาทักษะด้านไอทีก็สำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยให้ไทยมีบุคลากรที่พร้อมรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ร่วมกับการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติการลงทุนให้รวดเร็ว และโปร่งใสมากขึ้น ด้วยการนำระบบอนุมัติแบบรวมศูนย์มาใช้ ซึ่งจะลดความซับซ้อน และระยะเวลาที่ใช้ในการอนุมัติโครงการลงได้

ที่มา: Krungthai COMPASS

กรุงไทยบอกว่า ไทยได้รับความสนใจในการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ น้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน เพราะค่าไฟ...webp


Topics:
Krungthai
Data Center
Thailand
ASEAN

Continue reading...
 



กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see
กลับ
ยอดนิยม ด้านล่าง